Skip to content

การเชื่อมต่อเครือข่ายไร้สาย WiFi เป็นวิธีการที่ง่ายและสะดวกในการที่จะเข้าถึงข้อมูลเครือข่ายอินเทอร์เน็ตใน ปัจจุบัน อีกทั้งมีจุดให้บริการหรือ Hotspot อยู่อย่างแพร่หลายทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นแบบเสียค่ายบริการจาก Service provider รายต่างๆ หรือจะเป็นบริการฟรีที่ควบคู่มากับการใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหาร โรงพยาบาลหรือร้านกาแฟ ก็เป็นอีกแบบที่ได้รับความนิยม 

อย่างไรก็ดีการใช้งานสัญญาณ WiFi ก็ไม่ใช่ว่าจะปลอดภัยเสมอไป โดยเฉพาะเมื่อต้องไปเชื่อมต่อใช้งานนอกสถานที่ ซึ่งเราไม่อาจทราบได้เลยว่าจะมีผู้ไม่หวังดีหรือมุ่งร้ายต่อข้อมูลสำคัญ ต่างๆ ระหว่างการเชื่อมต่อเพื่อทำธุรกรรมต่างๆ ด้วยหรือไม่ ฉะนั้นการป้องกันที่ดี ย่อมจะช่วยให้เราใช้งานและเชื่อมต่อได้อย่างปลอดภัยนั่นเอง โดยที่เราเองก็สามารถทำได้ด้วยตัวเอง

1. อันดับแรกที่ต้องทำคือ ให้เปิดระบบรักษาความปลอดภัยต่างๆ ให้ครบ ในส่วนของ Internet Security ด้วยการ Turn on Firewall และปิดการแชร์ข้อมูลสำคัญในส่วนต่างๆ ที่บางทีเราเปิดแชร์เพื่อให้ใช้กันภายในบ้าน ก็ให้ปิดการแชร์ชั่วคราว รวมถึงเมื่อไม่ได้ใช้งานอินเทอร์เน็ตแล้ว ก็ให้ปิดการทำงานของ WiFi ให้เรียบร้อย

2. เลือกใช้ Firewall ด้วยการเลือกโปรแกรม Firewall มาติดตั้งเพิ่ม นอกเหนือจากที่มีในวินโดวส์หรือระบบปฏิบัติการอื่น เพื่อเพิ่มความสามารถในการป้องกันให้ดียิ่งขึ้น โดยอาจจะเลือกใช้แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือจะจ่ายเพิ่ม เพื่อให้มีฟีเจอร์พิเศษมาช่วยป้องกันได้อย่างมั่นใจ ซึ่งในปัจจุบันก็มี Firewall หลายค่ายให้เลือกใช้กัน ไม่ว่าจะเป็น ZoneAlarm, Comodo, Kaspersky หรือ Norton เป็นต้น

3. ใช้ระบบ VPN (virtual private network) เพื่อการเชื่อมต่อได้อย่างปลอดภัย ซึ่งระบบ VPN นี้ พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นการเข้ารหัสให้กับข้อมูลที่เราจะรับส่งกับปลายทาง โดยที่เราสามารถดาวน์โหลดโปรแกรมเข้ามาใช้งานร่วมกันได้ อย่างเช่น Hotspot Shield จากค่ายต่างๆ ที่มีให้บริการ ไม่ว่าจะเป็น Windows, Mac OS หรืออื่นๆ

4. เปิดหน้าเว็บไซต์ที่ต้องการใช้ทำธุรกรรมให้อยู่ใน ความปลอดภัย ด้วยการเข้ารหัสแบบ OpenSSL ซึ่งจะทำให้ Browser ที่เราใช้นั้นมีการเข้ารหัสและเจาะจงมากยิ่งขึ้น ซึ่งการใช้งานก็แค่เพียง เพิ่มเติมในส่วนของ URL ให้เป็น “HTTPS” แทนที่ “HTTP” ตามปกติเท่านั้น

5. ตั้งพาสเวิร์ดให้ยากเข้าไว้ ให้ชนิดที่ว่า โหด หิน ยากต่อการเดาหรือคาดเดาไม่ได้เลยยิ่งดี ใส่เอาไว้ป้องกันตั้งแต่การเข้าเครื่อง การเข้าถึงข้อมูล การทำธุรกรรมและอีเมล์ต่างๆ เพื่อที่จะให้ผู้ไม่หวังดี แม้จะล่วงล้ำเข้ามาได้ แต่ก็ยากที่จะเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้เช่นกัน

6. สุดท้ายก็น่าจะเป็นการใช้วิธีที่เรียกว่า 2 Factor Authentication หรือการยืนยันแบบ 2-Step Verification เป็นรูปแบบการยืนยันตัวตน โดยใช้ข้อมูล 2 ใน 3 ส่วนร่วมกัน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ในที่นี้ดูตัวอย่างได้จาก Gmail ในการใช้งานและตั้งค่าการยืนยัน 2 ขั้นตอน เมื่อเราเข้าสู่ระบบจีเมล อย่างถูกต้องแล้ว จะมีการแจ้งรหัสพิน (Pin) 6 หลัก ก็ให้นำมาใช้ในการเข้าสู่ระบบเพื่อเข้าใช้อีเมลได้นั่นเอง

เรียกได้ว่าขั้นตอนสั้นๆ ง่ายๆ เหล่านี้ ก็มีส่วนช่วยให้การเชื่อมต่อเครือข่ายไร้สายนอกบ้านได้ปลอดภัยยิ่งขึ้น แม้จะไม่ถึงกับร้อยเปอร์เซนต์ ด้วยปัจจัยอื่นๆ ประกอบ แต่ก็ทำให้มั่นใจได้ในการทำธุรกรรมต่างๆ นั่นเอง